วันเดอเรอร์จากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ด้วยกันในเมืองจำลองป๊อปอัพซิตี้แห่งนี้ และไม่ว่าจะเดินทางมาจากไหนก็ตาม การเดินทางของคุณได้ทิ้งร่องรอยต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ดังนั้นก่อนที่คุณจะมาถึงวันเดอร์ฟรุ๊ต คุณสามารถแสดงความรับผิดชอบด้วยการชดเชยปริมาณคาร์บอนในจำนวนที่จะปล่อยออกมา โดยเริ่มจากคำนวณปริมาณก๊าซคาร์บอนจากการเดินทางของคุณ และสนับสนุนคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะเกิดขึ้น
การสร้างเมืองจำลองป๊อปอัพซิตี้ในงานวันเดอร์ฟรุ๊ตปีนี้ต้องอาศัยหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเวลา ความคิดสร้างสรรค์ กำลังคน และทรัพยากร ซึ่งเราได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมในทุกองค์ประกอบ และพิจารณาว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่จะเกิดขึ้น และทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในงานวันเดอร์ฟรุ๊ตมาจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งจากการก่อสร้าง การขนส่ง ร้านค้าในงาน รวมถึงจากทุกคนที่มาร่วมงาน เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วทำให้เราเห็นที่มาของผลกระทบเหล่านี้ได้ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ก่อนงานเริ่ม โดยเฉพาะจากการเดินทางมางาน
ก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทางมางานวันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นจำนวนที่มากที่สุด ทั้งการขนส่งอุปกรณ์เครื่องมือ ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการเดินทางของทีมงานและนักดนตรีจากทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 1,300 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาล
การเดินทางโดยเครื่องบินสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ปริมาณมาก ผู้โดยสารชั้นประหยัดหนึ่งคนที่เดินทางจากสิงคโปร์-กรุงเทพฯ จะปล่อยก๊าซคาร์บอน 210 กิโลกรัม และในระยะทางเดียวกัน หากเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจะปล่อยก๊าซคาร์บอน 300 กิโลกรัม ยิ่งเดินทางไกลและบ่อยครั้งก็ยิ่งมีปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมากขึ้น
เป็นครั้งแรกของวันเดอร์ฟรุ๊ตที่เราเปิดโอกาสให้วันเดอเรอร์สามารถร่วมชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางมางาน ด้วยการสนับสนุนโครงการฟื้นฟูและรักษาผืนป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนตามธรรมชาติ ทุกการเดินทางของคุณปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นมาร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อบรรเทาความรุนแรงนั้น
เราได้ร่วมพาร์ทเนอร์กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปกป้องผืนป่าต้นน้ำที่ปลูกขึ้นตั้งแต่ปี 2532 จากโครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี โครงการนี้ยังช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวเขาที่เลี้ยงชีพด้วยการปลูกฝิ่นให้มีแหล่งทำมาหากินที่ยั่งยืนจากพื้นที่ป่า และโครงการพัฒนาดอยตุงยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ได้มาตรฐานรับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตของคุณจะส่งความช่วยเหลือไปให้มูลนิธิฯ ดำเนินการรักษาและปกป้องผืนป่าดอยตุงให้คงสถานะคาร์บอนซิงค์ (carbon sink) ต่อไปอีกหลายปีในอนาคต
ชาวเขาบนดอยตุงในอดีตมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลาย พร้อมทั้งให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำลายสมดุลทางธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชาวเขาพึ่งพาตนเองได้
แนวทางการปลูกป่าไม้อย่างยั่งยืนของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ควบคู่ไปกับพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ แก่คนในพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนจากผู้ที่เคยทำลายป่า ให้เป็นผู้พิทักษ์รักษาป่าไม้ให้คงอยู่อย่างเป็นระบบสืบไปในอนาคต
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และได้รับการรับรองว่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 2 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ภายในระยะเวลา 20 ปีหลังจากนี้