Scholars of Sustenance (SOS) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารในหลายๆ ด้านทั้งการจัดการปัญหาขยะจากอาหารเหลือเกินบริโภค ไปจนถึงคิดค้นหาแนวทางที่ให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติ ในช่วงนี้ที่มีการบังคับใช้มาตรการหยุดอยู่บ้าน SOS ได้ทำหน้าที่จัดหาอาหารไปให้ผู้ยากไร้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมสนับสนุนได้ที่เว็บไซต์ขององค์กร
ภาวะโรคระบาดจากไวรัส COVID-19 ทำให้ไลฟ์สไตล์ของเราเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกันมากขึ้น และเชื่อว่าทุกบ้านไม่ว่าจะทำอาหารทานเองหรือใช้บริการสั่งอาหารก็ตาม ในทุกมื้อก็ต้องทานที่บ้านอยู่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังพอๆ กับโรคระบาดก็เห็นจะเป็นเรื่องของ เศษอาหาร หรือ food waste ที่เหลือจากการทำอาหารหรือหรือจากการกิน
ไม่ว่าจะเศษผัก ผลไม้ เปลือกไข่ ขนมปัง เปลือกกุ้งหอยปูปลาต่างๆ ถ้าทิ้งเป็นขยะก็จะเป็นการทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้โลกร้อนขึ้น และค่อยๆ ขยายผลเป็นปัญหามลพิษอีก รู้หรือไม่ว่าขยะจากอาหารเหลือเป็นสาเหตุอันดับสามของขยะทั้งหมดที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วเราสามารถจัดการขยะอาหารได้ง่ายมาก และสามารถทำได้เองที่บ้านเลย และนั้นก็คือการนำเศษอาหารที่เหลือมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยหมัก ปลูกผัก รักษ์โลกแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้
การทำปุ๋ยหมักเป็นวิธีจัดการเศษอาหารที่ง่ายที่สุด ทุกคนสามารถทำเองได้ ไม่ว่าจะมีอุปกรณ์แบบไหน ภาชนะแบบไหน หากมีพื้นที่อย่างเช่นสวนหลังบ้าน ก็สามารถทำเป็นกองปุ๋ยได้ สำหรับบางคนที่อยู่คอนโดหรืออพาร์เมนท์ที่มีพื้นที่จำกัด ก็สามารถทำปุ๋ยโดยการใส่ภาชนะก็ได้ สามารถใช้ได้ทั้งกระสอบ ถุงพลาสติก กะละมัง หรือตะกร้า เพียงควบคุมปัจจัยให้เหมาะสมต่อการย่อยสลายของปุ๋ย จากนั้นกระบวนการทางธรรมชาติก็จะเกิดขึ้นเอง
ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารอาจจะฟังดูแล้วไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เห็นภาพอาหารเปียกแฉะมีแมลงวันตอม ไม่น่าเข้าไปใกล้เอาเสียเลย แต่รู้หรือไม่ถ้าเราปล่อยขยะอาหารไว้ในถังขยะที่เราทิ้งไป ก็จะมีสภาพที่แย่ยิ่งกว่าการนำไปทำปุ๋ยหมักที่อย่างน้อยผสมยังมีส่วนผสมอื่นๆ ที่เป็นของแห้งบ้าง เพราะฉะนั้นเราจึงชวนทุกคนมาลองเรียนรู้และทำความเข้าใจกับการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารกันใหม่
หัวใจสำคัญของการทำปุ๋ยหมักคือ ความชื้น อากาศ ปริมาณวัสดุที่ใส่เข้าไป วัสดุในที่นี้มีสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นเศษอาหาร ซึ่งมีความเฉอะแฉะและความชื้นสูง อีกส่วนก็คือ วัสดุปลูก เช่นใบไม้ เศษพืชแห้ง กากกาแฟ มูลสัตว์ ในส่วนนี้จะเป็นของแห้งที่จะเข้ามาช่วยลดความชื้นของเศษอาหาร ให้ความชื้นเหมาะสมต่อการย่อยสลาย สำหรับมูลสัตว์จะเป็นแหล่งจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย มูลสัตว์สามารถหาซื้อได้ง่านตามร้านขายต้นไม้ต่างๆ ราคาประมาณ 20 บาท สามารถใช้มูลสัตว์ประเภทไหนก็ได้
ทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่ากระบวนการหมักมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ การหมักที่ต้องการอากาศ (Aerobic) และ ไม่ต้องการอากาศ (Anaerobic) แบบที่ไม่ต้องการอากาศ ต้องหมักในภาชนะที่ปิดมิดชิด อากาศไม่สามารถเข้าได้และต้องอัดวัสดุภายในภาชนะให้แน่น จุลินทรีย์กลุ่มนี้ถึงจะทำงาน โดยหมักทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน แล้วจึงนำมาหมักต่อกับดินหรือวัสดุปลูกในพื้นที่มีอากาศต่อ ปุ๋ยหมักจะเกิดความร้อนสูงถึง 50-80 องศา มีความร้อนสูงจนกว่าการย่อยสลายจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 -45 วัน
การหมักปุ๋ยแบบที่ต้องการอากาศ ต้องหมักในภาชนะที่สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี วิธีการง่ายๆ คือการใช้ภาชนะที่มีรู เช่น ตะกร้าผ้า เข่ง กระสอบ หรือเจาะรูภาชนะเองเลยก็ได้ง หากไม่เจาะรูก็สามารถต่อท่ออากาศ หรือใช้วิธีคลุกผสมบ่อยๆ การที่มีอากาศถ่ายเทก็จะทำให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดี ไม่มีกลิ่น เมื่อไม่มีกลิ่นก็จะไม่มีแมลงมารบกวน
สำหรับคนที่พักอาศัยในพื้นที่จำกัด ก็สามารถวางภาชนะที่ใช้หมักปุ๋ยที่ใต้อ่างล้างจาน ระเบียง มุมห้องครัวในคอนโดก็ได้ เริ่มจากเตรียมวัสดุหมักปุ๋ยให้พร้อมก่อน สามารถหาซื้อวัสดุปลูก ดินถุง และมูลสัตว์จากร้านขายต้นไม้ใกล้บ้าน หรือเก็บใบไม้ เศษหญ้า หรือใช้กากกาแฟมาเป็นของแห้งได้ มีวิธีการเตรียมดังนี้คือ นำของแห้งทั้งหมดมาคลุกผสมกัน แล้วเติมน้ำตาลอะไรก็ได้พอประมาณ โรยให้ทั่วแล้วคลุกผสมให้เข้ากันเก็บไว้ในถัง หรือกล่องหรือกระสอบก็ได้ ระวังอย่าให้มีความชื้น แค่นี้ก็สามารถเก็บเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใช้ได้ตลอด
หลังจากเตรียมวัตถุดิบแล้ว คุณสามารถเลือกใช้ภาชนะทำปุ๋ยหมักเศษอาหารได้ 2 รูปแบบคือ หมักในกระสอบ หรือ หมักในถังพลาสติก
การหมักปุ๋ยในกระสอบเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด สามารถใช้กระสอบที่เราซื้อดินถุงมาได้เลย คุณสมบัติของกระสอบคือสามารถถ่ายเทอากาศได้ ใส่ลงไปในตะกร้าที่ขนาดพอดีกัน แล้วใส่ของแห้งวัตถุดิบตั้งต้นที่เราเตรียมไว้ลงไปสลับกับเศษอาหาร สามารถทยอยใส่ลงไปแบบนี้ในแต่ละวันที่เหลือเศษอาหาร แล้วใช้เชือกมัดปากถุงทุกครั้ง ดูเรื่องความชื้น ไม่ควรเทน้ำแกงลงไปด้วย เพราะจะทำให้แฉะจนเกินไป แต่ถ้าแห้งเกินไปก็รดน้ำพอประมาณ ใช้ช้อนคนคลุกผสมให้เข้ากันทุกๆ 2 วัน หรือแล้วแต่สะดวก การคลุกจะทำให้จุลินทรีย์กระจายตัวได้ดีขึ้น ประมาณ 2 – 3 วัน ถ้าถุงปุ๋ยที่หมักมีความร้อนสูงมาก แสดงว่าการย่อยสลายเริ่มทำงาน
จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน นับจากหลังจากครั้งสุดท้ายที่เติมวัตถุดิบเข้าไปก็เป็นอันเสร็จ หากความร้อนหายไปแล้วแสดงว่าการย่อยเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นให้เอาออกมาผึ่งลมให้แห้งประมาณ 1-2 วัน ก็สามารถนำไปใช้ปลูกผักหรือใส่ต้นได้แล้ว ข้อควรระวัง ไม่ควรใส่ปุ๋ยเยอะเกินไปจนต้นไม้สำลักปุ๋ย
ส่วนวิธีการหมักในถังพลาสติกก็ไม่ยาก ใช้ถังนี้ทั่วๆ ไป 2 ใบ ขนาดไหนก็ได้ เจาะรูด้านล่าง ใบแรกที่ก้นถัง ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร แล้วเจาะด้านข้างเป็นรูเล็กๆ ไม่ต้องใหญ่มาก เอาถังที่เจาะวางซ้อนกับถังเปล่า ถังด้านล่างจะเอาไว้เก็บน้ำจากปุ๋ยหมัก จะเจาะรูต่อก๊อกน้ำหรือไม่ก็ได้ ด้านบนใช้ฝาปิดหรือตาข่ายไนล่อนคลุมไว้ก็ได้ การหมักก็ทำคล้ายกับวิธีการทำในกระสอบ ระยะเวลาใช้ประมาณเดียวกัน
ทั้งสองวิธีการที่ได้ทำเสนอเป็นเพียงแต่ตัวอย่างง่ายๆ ที่สามารลองทำเองได้ เป็นการใช้สิ่งรอบตัวที่หาได้ง่ายๆ มาใช้ทำเป็นภาชนะ หากจะลองคิดวิธีหมักของตัวเอง ก็ให้คำนึงถึงหัวใจของการทำปุ๋ยหมัก การควบคุมปัจจัยให้จุลินทรีย์เกิดการย่อยสลายอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
การทำปุ๋ยหมักช่วยลดขยะอาหารที่สร้างมลพิษโลกและยังเป็นกิจกรรมที่จะคลายเหงาในภาวะแบบนี้ พอได้ปุ๋ยแล้วต่อไปคุณก็อาจจะเริ่มปลูกผักสวนครัวเล็กๆ น้อยในบ้านเอง มีผักปลอดสารพิษรับประทาน ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้านอีกด้วย ยังไงเราอยากลองให้ทุกคนใช้เวลาอยู่บ้านลองทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เป็นการดูแลโลกของเราได้อีกทาง