News

Q&A: Nick Luscombe Explains Musicity and Hints at What’s in Store

2 สิงหาคม 2562 | Wonderfruit

พูดคุยกับ Nick Luscombe เจ้าของโปรเจ็ค Musicity ที่จะเกิดขึ้นในวันเดอร์ฟรุ๊ต

 

หนึ่งในไฮไลต์ของวันเดอร์ฟรุ๊ต 2019 ก็คือไลฟ์โชว์ครั้งแรกของทีมศิลปินในโปรเจ็คดนตรีเอ็กซ์เพอริเมนทัลที่สร้างสรรค์บทเพลงโดยได้แรงบันดาลใจมาจากย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เราได้พูดคุยกับ Nick Luscombe ผู้ริเริ่ม Musicity มาดูกันกันว่าโปรเจ็คนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้คุณได้ทำความรู้จักก่อนไปชมโชว์ที่วันเดอร์ฟรุ๊ต

 

WONDERPOST:อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณเริ่มโปรเจ็ค Musicity

 

NICK: มีหลายเหตุผลมากครับว่าทำไมถึงเริ่มทำโปรเจ็คนี้ขึ้นมา รวมถึงมีที่มาที่ไปอย่างไร

 

ผมสนใจเรื่องของการออกแบบเมืองมานานแล้ว ผมสนใจว่าทำไมแต่ละสถานที่ถึงทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ต่างกันไป เพราะอะไรเราถึงเลือกใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางจากจุด A ไปยังจุด B ผมสนใจไอเดียที่ว่าเอาดนตรีเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเมื่ออยู่ ณ จุดนั้น

 

และผมก็อยากรู้ว่านักดนตรีจะโต้ตอบกับอาคารสถาปัตยกรรมอย่างไรเมื่อได้รับโจทย์มาแบบนั้น และเป็นไปได้มั้ยที่จะสร้างแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับดนตรีและสถาปัตยกรรม

 

ดนตรีกับสถาปัตยกรรมมีความสอดคล้องกันอย่างไรในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้คน

 

ทั้งสองอย่างถือว่าเป็นศิลปะด้วยกันทั้งคู่ และต่างก็มีอิทธิผลกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา และศิลปะทั้งสองก็มีอิทธิพลต่ออารมณ์ของคน

 

ผมรู้สึกว่ามันเป็นหัวข้อที่ยังไม่ค่อยมีใครแตะมาก่อน แต่สิ่งที่เราทำมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็ได้ขยายเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ในหลายเมืองแล้ว …เรากำลังอยู่ในช่วงต้นของการเรียนรู้วิธีทำงานกับเสียงและพื้นที่ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ขึ้นมาครับ

 

คุณทำงานร่วมกับนักดนตรี โปรดิวเซอร์ หรือกระทั่งกับนักเขียน และกับนักวิทยาศาสตร์ คุณมีวิธีการเลือกคนที่จะมาร่วมงานอย่างไร

 

การเลือกศิลปินคนที่ใช่มาร่วมโปรเจ็คในแต่ละสถานที่เป็นอะไรที่สำคัญมาก เราต้องแน่ใจว่าศิลปินมีจุดเชื่อมโยงที่ชัดเจนกับพื้นที่เหล่านั้น เราทำงานในลอนดอนและพัฒนาไอเดียร่วมกับโปรดิวเซอร์จากทั่วโลก ส่วนในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้ามา และเราได้ร่วมพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยโตเกียวและ ARUP ซึ่งเป็นองค์กรผู้ให้บริการด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

 

พูดถึงเรื่องสถานที่แล้ว มีคุณสมบัติไหนบ้างที่ Musicity ต้องการ แล้วคุณเลือกศิลปินให้กับสถานที่นั้นอย่างไร

 

แต่ละที่ก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปสำรวจหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสถานที่ก็มีความหลากหลายไปตามลักษณะของผังเมือง รูปทรงของอาคาร ถนน สวนสาธารณะ ไปจนถึงผู้คน สัตว์ นก หรือแมลงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น การมาบรรจบกันของสิ่งเหล่านี้นได้สร้างสรรค์ระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบสำหรับเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่เมืองใหญ่อย่างโตเกียวและเซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงเมืองเล็กๆ หรือในเขตชนบท

 

จากนั้นเราจึงค่อยมาเลือกศิลปินให้เข้ากับแต่ละสถานที่ โดยเป็นทำงานร่วมกันของนักดนตรีท้องถิ่นในเมืองนั้นกับนักดนตรีรับเชิญที่ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ด้วย

 

โดยส่วนตัวแล้วคุณมีประสบการณ์ไหน หรือโปรเจ็คไหน หรือเพลงไหน ใน Musicity ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ และมีความพิเศษอย่างไรสำหรับคุณ

 

เลือกยากมากเลยครับ ทุกแทร็คมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมาก และก็เป็นเพลงที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับสถานที่นั้นๆ ทุกเพลงจึงมีความพิเศษในตัวของมันเองเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่นั้น และได้ยินเพลง ณ​ ที่ตรงนั้นเป็นครั้งแรก สำหรับผมมีหลายที่ในโลกที่สามารถกลายมาเป็นความทรงจำใหม่ๆ ด้วยเพลงที่สัมพันธ์กับตำแหน่งที่เราอยู่

 

เราโชคดีที่ได้สร้างสรรค์ผลงานในโปรเจ็คขนาดใหญ่ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี รวมถึงงานที่มีขนาดเล็กลงมากับการทำเพลงสำหรับแกลเลอรี่จัดงานศิลปะ ดังนั้นผลงานที่ได้ออกมาจึงเป็นงานที่มีคุณภาพจากศิลปินที่ร่วมโปรเจ็คนี้ทุกคน

 

อะไรคือความท้ายทายในการสร้างสรรค์ดนตรีให้กับสถานที่หนึ่ง

 

ผมคิดว่าสำหรับศิลปินแล้ว มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระว่างพื้นที่กับดนตรีที่จะต้องไปด้วยกันอย่างนั้นตลอดไป ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความใส่ใจในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นอย่างมาก. 

 

โปรเจ็ค Musicity สำหรับงานวันเดอร์ฟรุ๊ต 2019 เพราะอะไรคุณถึงคัดสรรศิลปินมาร่วมโปรเจ็คนี้จากสังกัด Erase Tapes Record ทั้งหมด

 

ผมเป็นแฟนเพลงของค่าย Erased Tapes มานานแล้วครับ รวมถึงชื่นชอบศิลปินหลายคนในค่ายนี้ด้วย แม้ว่าเพลงของแต่ละคนจะมีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก แต่เป็นสไตล์เพลงของค่ายที่มีซาวด์ที่ผมรู้สึกว่าเหมาะสำหรับจุดประสงค์ของ Musicity

 

หลังจากได้คุยกับโรเบิร์ตซึ่งเป็นอดีตเจ้าของค่าย (และอดีตสถาปนิก) รวมถึงศิลปินหลายคนใน Erased Tapes ผมก็ได้ความชัดเจนเลยว่าเราจะสามารถทำโปรเจ็คนี้ให้เกิดขึ้นได้

 

เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำเพลงในระยะเวลาอันสั้น และสถานที่ก็อยู่ไกลด้วย แต่ผมรู้สึกว่าโปรเจ็คนี้จะเป็นอะไรที่พิเศษมาก

 

เลือกสถานที่ต่างๆ สำหรับโปรเจ็คในกรุงเทพอย่างไร

 

สำหรับการเลือกสถานที่นั้นเราได้ทำงานร่วมกับทีมงานของวันเดอร์ฟรุ๊ตและศิลปินคนอื่นๆ ที่จะมาร่วมงาน ซึ่งก็เป็นการทำงานอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก การพัฒนา Musicity ผ่านความเข้าใจท้องที่ที่ลงไปสำรวจ ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดความสนใจของคนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมือง และนี่ก็เป็นความพยายามอันดับแรกของเรา

 

คิดว่าซาวด์ของกรุงเทพฯ จะออกมาเป็นอย่างไร

 

ผมไม่เคยไปประเทศไทยเลยครับ แต่ผมจินตนาการว่าคงจะมีซาวด์น่าสนใจซ่อนอยู่มากมายในกรุงเทพฯ ที่เราต้องขุดมันขึ้นมา เพื่อแสดงถึงไดนามิคของเมืองที่มีความคึกคักตามที่ผมรู้สึกนะครับ

 

มีอะไรคุณคาดหวังจะเจอในงานวันเดอร์ฟรุ๊ตเป็นการส่วนตัวบ้าง

 

สุดยอดไลน์อัพศิลปินครับ ผมอยากไปดูดนตรีในงานท่ามกลางบรรยากาศของธรรมชาติที่รายล้อม และงานสถาปัตยกรรมโครงสร้างต่างๆ ที่สร้างสรรค์โดย Ab Rogers อยากไปแล้วครับ!

 

โปรเจ็คต่อไปของ Musicity มีอะไรบ้าง

 

เรามีโปรเจ็คใหญ่ๆ ในอีกหลายเมืองทั่วโลก ซึ่งก็จะสร้างสรรค์ผลงานออกในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรือวีอาร์ และไลฟ์อีเวนต์ครับ

 

ขอขอบคุณ Nick ที่มาร่วมพูดคุยกับเราเกี่ยวกับโปรเจ็คระดับโลกของเขา และเราเองก็อยากจะได้ลองสัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีรูปแบบบใหม่ที่ Theatre Stage ในเดือนธันวาคมนี้แล้ว ติดตามเพิ่มเติมได้หน้าเพจของ Musicity